อันตรายทางกายภาพอะไรบ้างที่ควรระบุในการทำ HACCP

มักมีข้อถกเถียงกันอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับอันตรายทางด้านกายภาพ อะไรบ้าง ต้องลงลึกแค่ไหน ต้องระบุทุกตัวที่คิดออกรึเปล่า ถ้านับกันจริงๆก็มีเยอะมากในแต่ละขั้นตอน ซึ่งคิดว่าเมื่อทีมหรือคนหลายๆคนมานั่งคุยกันเรื่องนี้ ก็ยากที่จะสรุปว่าตกลงจะระบุอะไรบ้างดี และก่อนที่จะรู้ว่าอะไรบ้างสมควรระบุต้องรู้ก่อนว่าจริงๆแล้วตามหลักการจริงๆของ codex อันตรายทางกายภาพ คืออะไรกันแน่

  • อันตรายทางกายภาพ คือ สิ่งที่มีคุณลักษณะด้านกายภาพ ที่มีอยู่ในอาหาร หรือสภาวะของอาหารที่มีแนวโน้มการก่อปัญหาให้ต่อสุขภาพ

นั่นก็หมายความว่า อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับอาหาร และมีลักษณะที่มีแนวโน้ม ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ก็เข้าข่ายทั้งหมด

ซึ่งจริงๆแล้วเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น

  • วัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ เช่น เศษหิน เศษไม้ เศษแก้ว เศษโลหะ เศษพลาสติก ลวดเย็บกระดาษ ก้างปลา กระดูก ชิ้นส่วนแมลง
  • เศษชิ้นส่วนจากอาคารหรือสิ่งก่อสร้าง เช่น เศษไม้ เศษโลหะ เศษสีที่หลุดลอก เศษแก้วจากหลอดไฟ หรือกระจกที่แตก เทอร์โมมิเตอร์
  • เครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ในการปฏิบัติงาน เช่น น๊อต เศษโลหะ ชิ้นส่วนของปะเก็น เครื่องมือในการทำงาน ฝอยเหล็กทำความสะอาด ขนแปรง เศษผ้า
  • สิ่งแวดล้อมบริเวณปฏิบัติงาน เช่น ฝุ่นผง แมลง ขนหนู มูลนกและหนู
  • พนักงาน เช่น เส้นผม กิ๊บติดผม เครื่องประดับ ปากกา ดินสอ กระดุม เครื่องดับประดับ พลาสเตอร์ปิดแผล

แล้วข้อกำหนดสั่งอะไรเรา จากขั้นตอนที่ 6 (หลักการที่ 1) ของข้อกำหนดบอกว่า “ระบุอันตรายทุกชนิดที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการผลิต” นอกจากให้คลอบคลุมอันตรายทั้ง 3 ด้านแล้ว (กายภาพ เคมี ชีวภาพ) ยังต้องระบุทุกอันตรายที่มีแนวโน้มก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพด้วย แต่อย่าลืมว่านี้เป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น อันตรายต่างๆที่เราพูดถึงจะต้องนำไปทำการวิเคราะห์อันตรายต่อ โดยคำนึงถึงโอกาสการเกิดและความรุนแรง อันตรายใดที่ไม่น่าต้องกังวลก็จะถูกสกัดโดยขั้นตอนนี้แทน ซึ่งการระบุอันตรายนั้นทำให้บริษัทเห็นได้ว่าอะไรบ้างคือสิ่งที่ต้องสนใจ และมีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดผลเสียได้ ซึ่งถ้าท่านระบุได้เยอะและครบถ้วนนั่นคือผลประโยชน์ของท่านที่จะไว้มองสิ่งที่จะก่อให้เกิดปัญหา และหาทางป้องกันได้ท่านว่าจริงไหม